ไขข้อข้องใจเรื่องฟันผุ ฟันสึก และการอุดฟัน

ไขข้อข้องใจเรื่องฟันผุ-ฟันสึก-และการอุดฟันBanner

ฟันผุเกิดจากอะไร

 

ฟันผุเกิดจากอะไร-ทำไมฟันถึงผุ

ฟันผุเกิดจากอะไร-ทำไมฟันถึงผุ-ผุน้อยไปมาก

ใครบ้างเคยรู้สึกว่า… เราก็แปรงฟันอยู่ทุกเช้า และก่อนนอน แต่ทำไมไปตรวจฟันทีไร ก็เจอฟันผุทุกที

สาเหตุ ที่ทำให้เกิดฟันผุ มาจากการแปรงฟันได้ไม่สะอาดเพียงพอ คือแปรงไม่ทั่วถึงทุกซอกทุกมุม เวลาที่เราแปรงฟันไม่สะอาด มันก็จะเหลือคราบอาหาร และคราบจุลินทรีย์ทิ้งไว้ (เชื้อโรคนั่นเอง) ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดฟันผุ และโรคเหงือกอักเสบตามมาได้

การจะเกิดฟันผุได้ ต้องมีองค์ประกอบครบ 3 อย่าง  นั่นคือ  คราบน้ำตาล+เชื้อโรคในช่องปาก+ระยะเวลานานๆ

องค์ประกอบแรก คือ คราบน้ำตาล มาจากอาหารที่เราทานอยู่ทุกมื้อทุกวันนี่แหละ หากยังพอจำได้  ตอนเด็กๆที่เราเคยเรียนกันมาว่าอาหารจำพวกแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต พอย่อยโดยเอ็นไซม์จากน้ำลายในช่องปากแล้ว ก็จะกลายเป็นน้ำตาล เพราะฉะนั้น เรากินข้าว กินขนม กินน้ำอัดลม น้ำผลไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกขนมหวาน สุดท้ายแล้วพอโดนย่อย ก็จะกลายเป็นน้ำตาลทั้งนั้น

องค์ประกอบที่ 2 คือ เชื้อโรคในช่องปาก … ในร่างกายของคนเรามีเชื้อแบคทีเรีย เชื้อจุลินทรีย์ อยู่แล้ว  มีทั้งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่พวกให้โทษก็มีเยอะ ถ้าเราทำความสะอาดได้ดี  แปรงฟันสะอาด แบคทีเรียพวกนี้มันก็จะอยู่กับเราอย่างสันติ  คือถูกเรากำจัดออกไปโดยการแปรงฟันอยู่เรื่อยๆ ไม่สามารถเพิ่มปริมาณได้มากจนทำร้ายเราได้ แต่ถ้าเราทำความสะอาดไม่ทั่วถึง แบคทีเรียพวกนี้มันก็จะเริงร่า พากันสร้างบ้านอย่างสุขสบายในปากเรา ยิ่งได้อาหาร(น้ำตาลนั่นเอง) ก็ยิ่งตัวอ้วน ออกลูกออกหลานกันใหญ่ เมื่อประกอบกับองค์ประกอบที่ 3 ก็จะทำให้เกิดฟันผุได้

องค์ประกอบที่ 3 คือ ระยะเวลานานๆ หมายถึงว่า ถ้ามีเชื้อโรค และมีอาหารให้เชื้อโรคเจริญเติบโต (น้ำตาล) และปล่อยทิ้งไว้นานๆ ก็จะทำให้ฟันผุได้ เริ่มต้นจากเชื้อโรค หรือแบคทีเรียจะมาย่อยสลายอาหารประเภทน้ำตาล ซึ่งจะทำให้เกิดสภาพความเป็นกรดในช่องปาก ส่งผลให้ฟันเราถูกดึงแร่ธาตุออกไป (ถูกดึงแคลเซียม และฟอสฟอรัส) ถ้าเกิดสภาพความเป็นกรดบ่อยๆ ฟันถูกดึงแร่ธาตุออกไปบ่อยๆ ในที่สุดก็จะเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น สีน้ำตาล และสีดำ กลายป็นรูฟันผุได้ในที่สุด

เพราะฉะนั้น เราจึงต้องแปรงฟันให้สะอาดทั่วทุกซอกทุกมุม จะได้ไม่มีคราบอาหาร คราบน้ำตาลทิ้งไว้ แบคทีเรียมันจะได้ไม่มีอาหารให้เจริญเติบโต……   รู้อย่างนี้แล้ว เราสามารถทานขนมได้(ในปริมาณที่พอเหมาะ) แล้วก็แปรงฟันให้สะอาดทุกซอกทุกมุม เพียงเท่านี้ฟันก็จะไม่ผุอีกต่อไป

หากปล่อยฟันผุไว้นาน จนผุลึกมากถึงชั้นโพรงประสาทฟันแล้ว แบบนี้จะรักษาด้วยการอุดไม่ได้  เพราะมีเชื้อโรคเข้าไปในรากฟันแล้ว ถ้ายังอยากเก็บฟันซี่นี้ไว้อยู่ (ไม่อยากถอนแล้วใส่ฟันปลอม) ก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการรักษารากฟัน

เมื่อรักษารากฟันเสร็จแล้ว จึงจะอุดฟันต่อได้(ส่วนใหญ่ทำได้เฉพาะในฟันหน้า ที่ไม่ต้องรับแรงมากนัก)   แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด หลังจากรักษารากฟันแล้ว ควรใส่เดือยฟัน และทำครอบฟันค่ะ

สรุปคือต้องตรวจฟันเป็นประจำทุก6เดือนนะคะ ถ้าพบฟันผุจะได้รีบอุดได้ทันค่ะ เพราะถ้าหากปล่อยทิ้งไว้นานจนฟันผุลึกถึงชั้นโพรงประสาทฟันแล้ว แบบนี้งานเข้าเลย😧
จากอุดฟัน ครั้งเดียวเสร็จ ค่าใช้จ่ายหลักร้อยหรือหลักพันนิดๆ จะกลายเป็นต้องรักษารากฟัน ใส่เดือยฟัน และทำครอบฟัน ต้องมาหาหมอหลายครั้ง และค่าใช้จ่ายเป็นหลักหมื่นค่ะ เรื่องมันเศร้า😢

วิธีป้องกันฟันผุ

วิธีป้องกันฟันผุ-แปรงฟันให้ถูกวิธี

ฟันผุเกิดจาก  แบคทีเรียในช่องปาก สร้างกรดมาย่อยสลายเศษอาหาร(น้ำตาล)ที่ตกค้างในปากของเรา  ทำให้เกิดการทำลายแร่ธาตุในตัวฟัน 

วิธีการป้องกันฟันผุ

1.แปรงฟันอย่างถูกวิธี ทั่วถึงทุกซอกทุกมุม

2.ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวัน

3.เลือกยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ 1,000 ppm ขึ้นไป

4.ไม่รับประทานขนมของหวานมากนัก

5.พบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน

6.เคลือบหลุมร่องฟันป้องกันฟันผุ

ฟันสึก ฟันกร่อน

ฟันสึก-ฟันกร่อน

ฟันสึก หรือฟันกร่อน คือ การที่ผิวชั้นนอกสุดของฟัน หรือที่เรียกว่าเคลือบฟันสึกหรือกร่อนไป ทำให้ฟันบางลง และอาจจะมีอาการเสียวฟันร่วมด้วย  ซึ่งถ้าไม่รักษา และยังมีสาเหตุให้สึกต่อเข้าไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะถึงชั้นโพรงประสาทฟัน เชื้อโรคจะเข้าไปในรากฟัน  ทำให้รากฟันอักเสบเป็นหนองได้

สาเหตุของฟันสึก และวิธีป้องกันรักษา

1. การแปรงฟันรุนแรงเกินไปและแปรงผิดวิธี

กรณีนี้พบบ่อยบริเวณคอฟันใกล้ขอบเหงือก ทำให้คอฟันสึก และเหงือกร่น  การแปรงฟันผิดวิธีในท่าถูกไปมาซ้ายขวาบริเวณคอฟัน ประกอบกับแปรงที่ใช้ขนไม่นุ่ม และอาจจะมือหนักเกินไป เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น

การป้องกัน : แปรงฟันเบาๆอย่างถูกวิธีและทั่วถึง  เลือกใช้แปรงสีฟันขนนุ่ม ยาสีฟันไม่มีผงขัดที่หยาบเกินไป

การรักษา : บริเวณไหนที่สึกเข้าไปลึกถึงชั้นเนื้อฟัน ต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อรักษาโดยการอุดฟัน

2.รับประทานทานอาหารรสเปรี้ยว และของแข็งๆ เป็นประจำ

กรณีนี้พบบ่อยที่ด้านบดเคี้ยวของฟัน  อาหารเปรี้ยวๆหรือมีความเป็นกรด เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ผลไม้รสเปรี้ยว ผลไม้ดอง ยำต่างๆ  และอาหารแข็งๆ เช่น น้ำแข็ง ถั่วต่างๆ กระดูกหมู กระดูกไก่ เป็นต้น อาหารเหล่านี้ทำให้ฟันสึกไปมากและเร็วกว่าการใช้งานตามปกติ

การป้องกัน: หลีกเลี่ยงอาหารแข็งๆ  และของเปรี้ยวๆ และหลังจากทานอาหารรสเปรี้ยว  ห้ามแปรงฟันทันที   ให้ใช้วิธีบ้วนปากมากๆ เพื่อให้ความเป็นกรดเจือจางไป  หากรีบแปรงฟันทันทีหลังจากทานของเปรี้ยว จะยิ่งทำให้ฟันสึกมากกว่าเดิม  การรักษา : บริเวณไหนที่สึกเข้าไปลึกถึงชั้นเนื้อฟัน ต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อรักษาโดยการอุดฟัน หรือหากสึกมากๆอาจจะต้องทำครอบฟัน

3. นอนกัดฟัน

การนอนกัดฟัน  จะทำให้ฟันสึกบริเวณด้านบดเคี้ยว  แรงจากการนอนกัดฟันนี้ มีความรุนแรงมากกว่าการทานอาหารแข็งๆหลายเท่า

การป้องกันและรักษา

เมื่อรู้ตัว หรือตรวจพบว่าเป็นคนนอนกัดฟัน ต้องให้ทันตแพทย์ตรวจประเมินเพื่อทำเฝือกสบฟันใส่ตอนนอน และบริเวณไหนที่สึกมากๆต้องอุดฟัน  หรือถ้าหากฟันสึกไปมากๆ อาจพิจารณาทำครอบฟัน

ประเภทของวัสดุอุดฟัน

วัสดุอุดฟันมีกี่ประเภทแบบไหนดีกว่ากัน

วัสดุอุดฟันที่นิยมใช้กันมี 2 ประเภท

1. อมัลกัม (Amalgam)

ข้อดี: แข็งแรงทนทาน อายุการใช้งานนาน ราคาถูกเมื่อเทียบกับวัสดุชนิดอื่นๆ  มีการใช้งานมายาวนานมากกว่าร้อยปี

ข้อเสีย: ดูไม่สวยงาม วัสดุเป็นสีเงินและเมื่อผ่านไปนานๆอาจจะเป็นสีดำได้  ใช้ได้แต่ฟันหลังเท่านั้น การกรอแต่งโพรงฟันเพื่อให้เหมาะสมต่อการยึดติดกับฟันอาจทำให้ต้องสูญเสียเนื้อฟันมาก

2. เรซินคอมโพสิต (Resin composite)

ข้อดี: มีความสวยงามใกล้เคียงฟันธรรมชาติ ใช้ได้ทั้งในฟันหน้าและฟันหลัง ไม่ต้องสูญเสียเนื้อฟันในการกรอแต่งฟันมาก เป็นที่นิยมในปัจจุบัน

ข้อเสีย: อายุการใช้งานสั้นกว่า และรับแรงบดเคี้ยวได้น้อยกว่าอมัลกัม  มีขั้นตอนในการอุดที่ยุ่งยากซับซ้อน ทันตแพทย์ต้องควบคุมการกั้นน้ำลายให้ดี

วัสดุอีกประเภทที่มีการใช้งานไม่บ่อยคือ  กลาสไอโอโนเมอร์ (Glass ionomer)
สีเหมือนฟัน  แต่ไม่สวยงามเท่าคอมโพสิต มีความทึบแสง สามารถปลดปล่อยฟลูออไรด์จากตัววัสดุได้ ทำให้มีฤทธิ์ในการต้านทานการเกิดฟันผุ ไม่แข็งแรงมากนัก ไม่ควรอุดในบริเวณที่ต้องรับแรงบดเคี้ยวหนักๆ อายุการใช้งานไม่นานเท่าคอมโพสิตและอมัลกัม  เหมาะกับบริเวณที่ไม่ต้องรับแรงและเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ เช่น รากฟัน เป็นต้น

ทำฟันกับ AG DENTAL PLUS

ตรวจสุขภาพฟัน

อุดฟัน

ขูดหินปูน รักษาโรคเหงือก โรคปริทันต์

ถอนฟัน ผ่าฟันคุด ศัลยกรรมช่องปาก

ฟอกสีฟันขาว

รักษาฟันเด็ก

รักษารากฟัน

ฟันปลอมถอดได้/ฟันปลอมติดแน่น

รากฟันเทียม ครอบฟัน สะพานฟัน

ปวดขากรรไกร นอนกัดฟัน นอนกรน

บำบัดฉุกเฉิน ลดอาการปวด

โปรโมชั่น

เรื่องฟันน่ารู้ ความรู้เรื่องฟัน AG Dental Plus Clinic ทำฟัน จัดฟัน โดยทีมทันตแพทย์มหิดล

เปิดให้บริการทุกวัน 9.00-20.00 น.

ปรึกษาทางออนไลน์ได้ ไม่มีค่าใช้จ่าย

Copyright © 2009 AG Dental Plus Clinic – All Rights Reserved.

ข้อจำกัดความรับผิด: ผลลัพธ์การรักษาขึ้นอยู่กับการตอบสนองของแต่ละบุคคล